ฟันคุด คืออะไร การผ่าฟันคุด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดที่สามารถทำได้โดยมักไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล โดยหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำการผ่าตัดเสร็จ ทั้งนี้หากในการผ่าฟันคุดมีแผลที่ต้องเย็บ ทันตแพทย์จะใช้ไหมละลายในการเย็บบริเวณแผล ไหมชนิดนี้จะละลายไปตามธรรมชาติพร้อม ๆ กับการสมานตัวของปากแผลภายในเวลาประมาณ 3-5 วัน
วิธีการผ่าตัด
การผ่าฟันคุดจำเป็นจะต้องใช้ยาชาหรือยาสลบเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งในการผ่าตัดทางช่องปากมียาชา ยาชาเฉพาะที่ ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปยังจุดใกล้เคียงบริเวณที่ผ่าตัด โดยอาจฉีดเพียง 1 เข็ม หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ซึ่งก่อนฉีดนั้นแพทย์ก็จะทำให้บริเวณเหงือกที่จะทำการฉีดยานั้นเกิดความรู้สึกชา โดยการใช้ยาชาเฉพาะจุดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด แต่จะไม่รู้สึกเจ็บบริเวณที่ผ่าตัด จะมีก็แต่เพียงความรู้สึกถึงแรงดันหรือการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์ภายในช่องปาก
- เมื่อยาชาหรือยาสลบออกฤทธิ์จนทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกบริเวณที่จะทำการผ่าตัดแล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มลงมือทำการผ่าตัดด้วยการใช้มีดกรีดที่เนื้อเยื่อเหงือกเพื่อเปิดให้เห็นกระดูกและฟันคุด จากนั้นจะค่อย ๆ ตัดกระดูกที่ขวางรากฟันคุดออก และแบ่งฟันคุดออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำออกมา ก่อนจะค่อย ๆ นำเศษฟันออกจากบริเวณแผล ล้างทำความสะอาดบริเวณแผล และนำเศษฟันหรือกระดูกที่ตกค้างอยู่ออกจนหมด แล้วจึงเย็บปิดแผล แต่ในบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องทำการเย็บปิดปากแผล จากนั้นในขั้นตอนสุดท้าย ทันตแพทย์จะนำผ้าก๊อซมาปิดบริเวณปากแผลเพื่อควบคุมให้เลือดหยุดไหล
- หลังจากการผ่าตัดแพทย์อาจใส่ผ้าก๊อซไว้ที่บริเวณปากแผลและให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้เลือดหยุดและเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นภายใน ซึ่งจะช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรนำออกหากเลือดยังไม่หยุดไหล
ทั้งนี้แผลผ่าฟันคุดจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเป็นปกติ โดยในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรก ๆ หลังจากผ่าตัด จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้
- อาการเจ็บบริเวณขากรรไกร อาการจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 7-10 วัน แต่เหงือกบริเวณขากรรไกรจะยังคงมีรอยช้ำต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์
- อาการปวด หากการผ่าฟันคุดมีความซับซ้อนก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดค่อนข้างมาก
- รู้สึกถึงรสชาติไม่พึงประสงค์ภายในช่องปาก อาทิ รสชาติคาวเลือดที่ออกจากแผลซึ่งยังคงตกค้างอยู่
- อาการเจ็บแปลบ ๆ หรือชาที่ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้น้อย โดยอาจเกิดขึ้นจากยาชาที่ตกค้าง หรือเกิดจากการถูกกระทบกระเทือนที่บริเวณปลายประสาท
ในระหว่างการพักฟื้นและรักษาตัว ช่วงวันแรก ๆ หลังจากการผ่าฟันคุดจะไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ แต่ก็ไม่ควรอดอาหาร และควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน เพราะจะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น โดยใน 1-2 วันแรกควรรับประทานอาหารนิ่ม ๆ หรือ อาหารเหลว และควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดน้ำและการรับประทานอาหารร้อนหรือรสจัดจะดีที่สุด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานแล้วอาจตกค้างอยู่ในซอกฟันที่ผ่าตัดก็ควรหลีกเลี่ยง และเมื่อแผลเริ่มสมานตัวแล้วจึงเริ่มสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้แต่ก็ควรเคี้ยวช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือน ซึ่งการกลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ จะเร็วหรือช้าก็จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเองว่ารู้สึกดีขึ้นแล้วหรือยัง
หากในระยะการพักฟื้นหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ กลืนไม่ได้ หายใจลำบาก มีเลือดออกมากผิดปกติ มีหนองออกมาบริเวณเบ้าฟัน เกิดอาการชา หรือกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรงควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้
อาการแทรกซ้อนที่มักจะพบหลังจากการผ่าฟันคุดคือ
อาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทใบหน้า – เป็นอาการที่อาจพบได้หลังจากการผ่าตัด แต่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก โดยอาการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บแปลบและชาบริเวณลิ้น ริมฝีปากล่าง คาง ฟัน และเหงือกได้ อาการบาดเจ็บดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเพียงไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน แต่ถ้าหากนานกว่านั้น นั่นแปลว่าเส้นประสาทดังกล่าวเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ เช่น รับประทานอาหารหรือน้ำได้ลำบาก ดังนั้นผู้ป่วยควรรับทราบความเสี่ยงเรื่องภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวก่อนทำการผ่าตัด
กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Alveolar Osteitis) – เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดหลังจากการผ่าฟันคุด ซึ่งจะเกิดจากการที่ลิ่มเลือดไม่แข็งตัวภายในกระดูกเบ้าฟัน หรือลิ่มเลือดภายในกระดูกเบ้าฟันหลุดไป จนทำให้กระดูกเบ้าฟันว่างและแห้ง และเป็นสาเหตุของอาการปวดหรืออาการปวดตุบ ๆ ที่บริเวณเหงือกหรือขากรรไกรอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังอาจมีกลิ่นและรสไม่พึงประสงค์ออกมาจากบริเวณกระดูกเบ้าฟัน อาการนี้จะกินเวลา 3-5 วันหลังจากผ่าตัด ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ และมีปัจจัยเหล่านี้ เช่น สูบบุหรี่ อายุมากกว่า 25 ปี มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากอื่น ๆ และมีการผ่าฟันคุดที่ค่อนข้างซับซ้อนก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่ออาการอักเสบมากขึ้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการกระดูกเบ้าฟันอักเสบควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาดบริเวณกระดูกเบ้าฟันและปิดด้วยผ้าปิดแผลที่สามารถเปลี่ยนใหม่ได้จนกว่าแผลจะหาย
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้เพิ่มเติม เช่น
- ขากรรไกรแข็งหรือมีอาการอ้าปากได้ลำบาก
- อาการช้ำที่เหงือกหายช้า
- ฟันซี่อื่นได้รับการกระทบกระเทือน
- ขากรรไกรหักเนื่องจากฟันคุดติดแน่นกับบริเวณกรามมากเกินไป แต่พบได้น้อย
- โพรงไซนัสถูกเปิดออกเนื่องจากฟันคุดซี่ด้านบนถูกถอนออกและทะลุถึงโพรงไซนัส แต่พบได้น้อย
- อีกทั้งการผ่าตัดอาจทำให้เกิดเลือดออกในปริมาณมาก และหากเลือดไม่หยุดไหลภายใน 24 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอันตรายได
ต้องการปรึกษาในกรณีเร่งด่วน